กินไม่หยุด กินไม่รู้จักอิ่ม อาจเป็นโรคต้องรักษา

November 10 / 2021

 

 

กินไม่หยุด กินไม่รู้จักอิ่ม อาจเป็นโรคต้องรักษา

 

 

 

 

 

 

เคยเจอกันไหมคับ...ว่าคนใกล้ตัว หรืออาจเป็นตัวเราเองมีพฤติกรรมการกินไม่อิ่ม กินไปเรื่อย ๆ กินได้ตลอดเวลา (ยกเว้นตอนนอน) หรือบางคนกินจุบจิบทั้งวัน บางครั้งอาจไม่รู้สึกหิว แต่เห็นของกินก็สามารถกินได้ทันที หรืออาจมีบางคนกินครั้งละมากๆ จนเป็นที่น่าตกใจ ลองสังเกตตัวเอง คนใกล้ตัว หรือคนรอบข้าง อาจจะพบเจออยู่บ้าง และทราบหรือไม่ว่าพฤติกรรมการกินดังกล่าว ทางการแพทย์ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ ที่เรียกกันว่า Binge Eating Disorder

 

 

 

 

Binge Eating Disorder คืออะไร ?

 

Binge Eating Disorder คืออาการของคนที่กินอาหารได้ครั้งละมากๆ มากจนน่าตกใจ และมักจะกินในเวลาอันรวดเร็ว หรือบางคนอาจจะเป็นบางช่วงที่กินเยอะเหมือนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ สาเหตุของโรค Binge Eating Disorder ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดได้จาก 3 พฤติกรรมเหล่านี้

 

  • ความเครียด ความกังวลที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อผู้ป่วยมาก เช่น กังวลในรูปร่างของตัวเอง หรือกลัวอ้วนขึ้นมากๆ
  • พฤติกรรมลดน้ำหนักแบบผิดๆ เช่น อดมื้อกินมื้อ หรือพยายามงดอาหารจนแทบไม่ได้กินอะไรในแต่ละวัน
  • ปัญหาทางครอบครัวที่ฝังลึกในจิตใจ หรือความกดดันทางสังคมจนก่อให้เกิดความเครียด

 

ซึ่งทั้งหมดคล้ายกับอาการกินตามอารมณ์อย่างมาก แตกต่างเพียงแค่กินตามอารมณ์นั้นอาจจะเกิดได้จากอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น มีความสุข เศร้า เครียด และอาจไม่ได้กินเยอะและรวดเร็วเท่ากับ Binge Eating Disorder แต่อาจเรียกได้ว่าการกินตามอารมณ์นั้นพัฒนามาเป็นโรคนี้นั่นเอง

 

 

โรค Binge Eating Disorder พบมากในกลุ่มใด ?

 

วัยรุ่นตอนปลาย ช่วงอายุประมาณ 23 ปี โดยค่าเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะพัฒนามาจากโรคกินผิดปกติอย่างโรคคลั่งผอม แต่พัฒนามาเป็นอีกขั่วจนมาเป็น Binge Eating Disorder และโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยด้วยโรคนี้จากสถิติจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจาก ผู้ป่วยโรค Binge Eating Disorder มักจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ไม่ว่าจะกับเรื่องไหนก็ตาม อีกทั้งกับคนที่ชอบให้รางวัลตัวเองด้วยการกิน กินเพื่อคลายเครียด หรือรู้สึกอะไรก็มักจะกิน คนกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงเป็นโรค Binge Eating Disorder มากกว่าคนอื่นๆ ด้วย

 

 

 

ถึงแม้ว่าโรค Binge Eating Disorder จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงมากนัก แต่ก็สามารถกระทบกับการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้หากไม่รักษาอาการอย่างเหมาะสม พฤติกรรมกินเยอะเป็นช่วงๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง โรคอ้วน โรคหัวใจโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคเส้นเลือดในสมอง รวมทั้งโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

อาการของโรค Binge Eating Disorder ที่แนะนำให้สังเกต

 

  • กินอาหารมากกว่าปกติ และทุกครั้งที่เริ่มกินอาหาร ก็เหมือนจะควบคุมปริมาณอาหารที่กินเข้าไปไม่ได้
  • กินอาหารด้วยความรวดเร็วเสมอ ยังคงกินอีกได้เรื่อยๆ แม้จะรู้สึกอิ่มจนแน่นท้องแล้วก็ตาม
  • สามารถกินอาหารในปริมาณมากๆ ได้ แม้จะไม่รู้สึกหิวเลยสักนิด
  • ทุกครั้งที่เกิดอาการก็มักจะหลบไปกินคนเดียว เพราะอายที่จะให้ใครรู้ว่าตัวเองกินอาหารได้เยอะขนาดไหน
  • ยิ่งเครียด ยิ่งอารมณ์เสีย ยิ่งกินมากขึ้นๆ แต่จะรู้สึกผิดและรู้สึกแย่ทุกครั้ง หลังกินอาหารมื้อใหญ่เข้าไปแล้ว
  • มีพฤติกรรมแปลกๆ คือกังวลกับน้ำหนักตัวและรูปร่าง แต่กลับกินไม่หยุด พยายามอย่างมากที่จะควบคุมตัวเอง หรือพยายามลดน้ำหนักอย่างหักโหมเกินพอดี แต่ก็เหมือนเอาชนะใจตัวเองไม่สำเร็จเท่าไร  รู้สึกเกลียดตัวเองทุกครั้งที่กินอาหาร

หากตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมหรือเกิดอาการแบบนี้เกิน 3 ข้อขึ้นไป อาจจะต้องได้เวลาไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา

 

โรค Binge Eating Disorder  มีวิธีการรักษาอย่างไร ?

 

วิธีการรักษาโรค Binge Eating Disorder นั้นต้องพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด และค่อยๆ ปรับทัศนคติต่อการลดน้ำหนัก การระบายอารมณ์ ความเครียดและปรับพฤติกรรมการกินให้เป็นปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นจิตแพทย์จะใช้การรักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาคลายเครียดเพื่อลดอาการ Binge Eating Disorder ร่วมกับการบำบัดทางจิต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเครียดหนักมาก และบางส่วนอาจจะต้องใช้การบำบัดพฤติกรรมลดน้ำหนัก ซึ่งวิธีนี้เหมาะจะรักษาผู้ป่วยโรค Binge Eating Disorder ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมลดน้ำหนักผิดวิธี โดยจะจัดให้ผู้ป่วยเข้าคอร์สลดน้ำหนักอย่างถูกต้องด้วยเทรนเนอร์และนักโภชนาการ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การทานอาหาร วิธีการออกกำลังกาย ฯลฯ

 

 

 

 

และสิ่งสำคัญก็คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรค Binge Eating Disorder ต้องเข้าใจในพฤติกรรม หรืออาการป่วยของตัวเองก่อน ว่าตัวเราเองตอนนี้เป็นผู้ป่วย ต้องใช้การบำบัดและต้องเชื่อฟังแพทย์เพื่อรักษาอาการของโรคนี้ให้หาย เพื่อที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ