'โรคอ้วนในเด็ก' อีกเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก แต่ใหญ่มากเมื่อเกิดโรคเพิ่ม

December 18 / 2024

โรคอ้วนในเด็ก

 

 

 

     โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แผนกเด็กและคลินิกเด็กสุขภาพดี โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมใส่ใจสุขภาพเด็กอย่างทะนุถนอมด้วยการตรวจวินิจฉัย รักษาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง หากรับประทานอาหารที่เหมาะสมและการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เด็กในวันนี้.. ก็สามารถเติบโตแข็งแรงและมีความสุข  

 

 

ปัจจัยส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก 

  • มารดาอ้วน ซึ่งอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • คลอดทารกน้ำหนักมาก
  • กลายเป็นเด็กอ้วนในช่วง 2 ปีแรก ซึ่งเซลล์จะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้อ้วนง่าย
  • มีไขมันสะสมมากกว่าปรกติที่อายุ 5 ปี ปรกติวัยนี้จะมีไขมันในร่างกายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับวัยอื่นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว
  • เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นวัยรุ่นอ้วน โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นอ้วนจะอ้วนจนถึงวัยผู้ใหญ่
  • ผู้ใหญ่อ้วนมีโรคแทรกซ้อนมาก
  • ถ้ามีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือผิดปรกติอื่น เมื่อผ่านไป 10 ปีก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

 

 

 

 

คำแนะนำเพื่อป้องกันวงจรของโรคอ้วน 

  • สตรีที่มีน้ำหนักมาก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมากในระหว่างตั้งครรภ์
  • ทารกควรได้รับนมมารดาจนถึงอายุ 6 เดือน เป็นอย่างน้อย ทารกที่ดื่มนมผสมก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูงกว่าทารกที่ดื่มนมแม่ถึง 2 เท่า
  • ทารกควรได้รับอาหารเสริมหลังอายุ 4-6 เดือน เพราะการเริ่มอาหารเสริมก่อน 4 เดือน มีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้มากกว่า
  • เมื่อพบว่าทารกเริ่มมีน้ำหนักขึ้นเร็ว ไม่เป็นสัดส่วนกับความสูง ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากทารกที่มีน้ำหนักเกินใน 2 ขวบปีแรกจะมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมมากทำให้อ้วนง่าย
  • ที่อายุ 5 ปี เด็กควรมีสัดส่วนที่พอดี เนื่องจากหลังจากนี้ร่างกายจะสะสมไขมันในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ หากมีไขมันเกินที่อายุ 5 ปีจะทำให้อ้วนง่าย
  • ถ้าภาวะน้ำหนักเกินล่วงเลยมาจนถึงวัยรุ่นแล้ว การลดน้ำหนักจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งครอบครัว และต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันให้มีความสมดุลย์ระหว่างพลังงานที่ได้รับจากอาหารและพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการป้องกันได้ผลดีกว่ามาก เพราะการลดน้ำหนักมักทำได้ชั่วคราว 80-90% ของผู้ที่ลดน้ำหนักได้ มักจะกลับไปมีน้ำหนักเท่าเดิมอีกในเวลาต่อมา

 

อ่านเพิ่มเติม: เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น แม้เรื่องเหมือนไม่ใหญ่ แต่ซับซ้อนกว่าที่คิด

 

 

 

ผู้ที่ควรจะได้รับการดูแลโดยคลินิกโรคอ้วนคือ ? 

  • เด็กทุกคนที่น้ำหนักขึ้นเร็ว ไม่เป็นสัดส่วนกับความสูง (ideal weight for height > 120 %) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี
  • เด็กที่น้ำหนักเกินที่มีมารดาน้ำหนักเกินจนถึงเกณฑ์อ้วนคือ BMI > 30 (BMI = น้ำหนัก (กก.)/ความสูง (ม.)2)
  • เด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่น้ำหนักเกิน
  • เด็กที่มีน้ำหนักเกิน และมีบิดา มารดาป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่อายุยังไม่มาก (บิดาเป็นที่อายุน้อยกว่า 55 ปี มารดาเป็นที่อายุน้อยกว่า 65 ปี) หรือบิดา มารดาป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
  • เด็กที่อ้วนมากจนอยู่ในขั้นอันตราย
  • เด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน ได้แก่ เบาหวานในเด็ก ความดันโลหิตสูง ทางเดินหายใจอุดกั้นทำให้นอนกรน นอนหายใจสะดุด เจ็บสะโพก ขาโก่ง ซึมเศร้า และประจำเดือนผิดปกติในเด็กผู้หญิง

 

 

โรคอ้วนในเด็ก

 

 

 

การเข้ารับการตรวจที่คลินิกโรคอ้วน

  • โทรนัดเวลาที่ OPD เด็ก
  • มารดา หรือผู้ที่ดูแลใกล้ชิดควรมาพร้อมกับเด็กเพื่อได้รับคำแนะนำโดยตรงจากแพทย์
  • จดบันทึกอาหารทุกอย่างที่รับประทานโดยบอกปริมาณเป็นช้อนโต๊ะ เป็นเวลา 5-7 วันก่อนพบแพทย์ เนื่องจากการควบคุมน้ำหนักในเด็ก จะต้องคำนึงร่างกายที่ยังต้องเจริญเติบโต จึงจำเป็นต้อได้ปริมาณโปรตีนและแร่ธาตุที่เพียงพอด้วย

 

 

การตรวจในคลินิกโรคอ้วน

เมื่อแพทย์ได้ซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว จะมีการตรวจอื่น ๆ ดังนี้

 

  • การวัด Body composition เพื่อดูปริมาณกล้ามเนื้อและไขมัน ก่อนการตรวจด้วยเครื่องนี้ นำมาคำนวณหามวลกล้ามเนื้อและปริมาณไขมัน ถ้าอยู่ในสภาวะน้ำขาดหรือเกิน การคำนวณอาจผิดพลาด การควบคุมน้ำหนักที่ดีควรให้ร่างกายไม่เสียมวลกล้ามเนื้อไปแม้จะลดปริมาณอาหารลง
  • การตรวจเลือดเพื่อดูวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ด้วยการดูจากอาหารที่รับประทานและจากการตรวจร่างกาย
  • กรณีที่มีอาการแทรกซ้อนจากโรคอ้วนดังได้กล่าวไปแล้ว อาจต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางตามความจำเป็นต่อไป

 

 

เป้าหมายของการควบคุมน้ำหนัก

  • กรณีอ้วนไม่รุนแรง การคุมน้ำหนักมีเป้าหมายเพียงรักษาน้ำหนักให้คงที่ โดยให้ปริมาณไขมันลดลง และปริมาณกล้ามเนื้อและกระดูกมากขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 ปี
  • กรณีอ้วนรุนแรงหรือมีโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน จะต้องลดน้ำหนักลง 10 % ในเวลา 1 ปีสำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปี

 

 

ความสำเร็จของการควบคุมน้ำหนักขึ้นกับ

  • ความร่วมมือของทุกคนในครอบครัว
  • กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  สุนทรี รัตนชูเอกและคณะ ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและรักษาโรคอ้วนในเด็ก. ฉบับแก้ไขครั้งที่ 2 วันที่ 22 พ.ค. 2577

2.  American Academy of Pediatrics. Pediatric Nutrition 7th edition, 2014; chapter 34.

3.  Ross AC et al. Modern Nutrition in Health and Disease 11th edition,2014; chapter 48,58,65.

 

 

การลดน้ำหนักจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งครอบครัว และต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันให้มีความสมดุลย์ระหว่างพลังงานที่ได้รับจากอาหารและพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน