s กินอย่างไรดี...เมื่อมีคอเลสเตอรอลสูง

กินอย่างไรดี...เมื่อมีคอเลสเตอรอลสูง

June 20 / 2024

 

 

กินอย่างไรดี...เมื่อมีคอเลสเตอรอลสูง

 

 

"........ภัยเงียบ...ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือดหลอดเลือดสมองตีบ........ "

 

ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญต่อการเกิดหลอดเลือดตีบตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้

 

 

มาทำความรู้จักกับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) กันดีกว่า.... 

 

คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบเฉพาะในสัตว์แม้จะไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่มีประโยชน์ในการสร้างกรดน้ำดีสำหรับย่อยไขมันในอาหาร สร้างวิตามินดี และฮอร์โมนบางชนิดรวมทั้งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ต่างๆ โดยส่วนหนึ่งของคอเลสเตอรอลนั้นร่างกายสร้างได้เอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน

 

 

ปริมาณคอเลสเตอรอล 

 

(มิลลิกรัม/100กรัมของอาหาร)

 

 

ชนิดของคอเลสเตอรอลในเลือด

 

  • LDL-cholesterol (คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือไขมันเลว) หากมีมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันได้
  • HDL-cholesterol (คอเลสเตอรอลชนิดที่ดีหรือไขมันดี) ทำหน้าที่ขนส่ง LDL-cholesterol บางส่วนจากหลอดเลือดแดงเพื่อนำกลับไปใช้ที่ตับ ซึ่งการมีระดับ HDL-cholesterol ในเลือดต่ำ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

 

 

ระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม

 

  • ค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ที่ได้จากการตรวจเลือดควรมีค่าน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • LDL-cholesterol ควรมีค่าน้อยกว่า 100-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
  • HDL-cholesterol ควรมีค่ามากกว่า 40-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 

 

 

 

สาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง

 

  • เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรืออาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง
  • เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและถ่ายทอดในครอบครัว
  • เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ไตวาย หรือยาบางชนิด

 

 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอล

 

  1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Partially hydrogenated oil) เช่น เบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ เนยเทียม ครีมเทียม วิปปิ้งครีม
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมัน จากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน กะทิ น้ำมันปาล์ม
  3. เลือกรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว 
  4. เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว-แป้งไม่ขัดสี 
  5. ควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลจากอาหารน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน
  6. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

 

 

ข้อแนะนำในการเลือกผลิตภัณฑ์อาหาร

 

ควรเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันทรานส์ (ไขมันทรานส์ 0 กรัม) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง โดยดูข้อมูลได้จากฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร

 

 

ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตได้

แก้ไขล่าสุด 09/06/63