s ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Cardiac Arrhythmia

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Cardiac Arrhythmia

January 30 / 2024

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Cardiac Arrhythmia

 

 

 

หัวใจเต้นปกติเป็นอย่างไร?

 

หัวใจปกติจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาทีและมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50-60 ครั้งต่อนาที

 

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไร?

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีความผิดปกติในสองลักษณะ

  • ผิดปกติในอัตราการเต้นของหัวใจ คือ เต้นช้าหรือเร็วมากเกินไปไม่เหมาะกับกิจกรรมของร่างกายในขณะนั้น
  • ผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจ คือ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆ หยุดๆ

ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติทั้งอัตราการเต้น และจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้ เช่น เต้นๆ หยุดๆ และเต้นเร็ว ในบางรายอาจมีเต้นช้าสลับกับเต้นเร็วก็ได้

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด?

 

หัวใจเต้นผิดจังหวะมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกการเกิด สาเหตุ อาการ การพยากรณ์โรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • หัวใจเต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia)  คือเต้นช้าน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia)  คือเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอาการอย่างไร?

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการได้หลายอย่างตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ใจสั่น เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม หมดสติ รุนแรงที่สุดอาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้

ผู้ป่วยทีมีหัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองและร่างกายไม่เพียงพอ ถ้าเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจะมีอาการมึนงง ถ้าหัวใจเต้นช้ามากจะหน้ามืดหรือหมดสติได้ ถ้าเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอก็จะมีอาการเหนื่อยเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากอาจมีอาการเหนื่อยแม้ในขณะพัก และอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว หรือภาวะหัวใจวายได้

 

 

 

 

 

ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และแรง เหนื่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจเกิดหัวใจล้มเหลวได้ ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วมากอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอมักจะมีอาการหัวใจกระตุกแรงๆ จุกที่หน้าอกหรือคอ ใจหายเป็นช่วงๆ

 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ซึ่งจะทราบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่นๆ

 

 

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 

 

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพอแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  • เป็นความผิดปกติภายนอกร่างกายและนอกหัวใจ เช่น การรับประทานอาหาร เครื่องดื่มหรือยาที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น การดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ ติดต่อกันนานๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็วเกินไป การทานยาที่อาจมีผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ยาลดความดันบางอย่าง นอกจากจะลดความดันแล้ว ยังลดการเต้นของหัวใจให้ช้าลงด้วย กรณีนี้สาเหตุอยู่นอกหัวใจและนอกร่างกาย วิธีการรักษาจึงมุ่งไปที่การลดหรือหยุดการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาดังกล่าว หัวใจก็จะกลับมาเต้นเป็นปกติ

 

  • เป็นความผิดปกติของร่างกายระบบอื่นๆ นอกหัวใจแต่มีผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและผิดจังหวะได้ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ท้องร่วง อาจมีผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ในกรณีให้มุ่งรักษาโรคที่เป็นสาเหตุกระตุ้น หัวใจก็จะกลับมาเต้นเป็นปกติได้

 

 

  • เป็นความผิดปกติของโรคหัวใจชนิดต่างๆ แล้วมีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ในกรณีนี้ต้องรักษาโรคหัวใจร่วมไปกับการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

 


 

  • เป็นความผิดปกติที่ระบบไฟฟ้าของหัวใจเอง โดยไม่มีความผิดปกติของหัวใจชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย  เช่น โรคไฟฟ้าลัดวงจรชนิด Wolff Parkinson White (WPW) syndrome บางชนิดเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง ที่อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ เช่น โรคไหลตาย (Brugada Syndrome) long QT syndrome กรณีนี้การรักษามุ่งแก้ไขความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจโดยตรง 

 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

 

การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นสิ่งที่มีความยุ่งยากอยู่บ้าง เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด ผู้ป่วยมีอาการหลากหลายแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน บางชนิดเป็นแค่เสี้ยววินาที บางที่เป็นหลายๆ นาที หรือหลายชั่วโมง มักจะเกิดโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าหรือมีเหตุกระตุ้นชัดเจน การวินิจฉัยที่ถูกต้องแพทย์จำเป็นต้องได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ขณะที่มีอาการเท่านั้นถึงจะวินิจฉัยได้ถูกต้อง

 

 

มีวิธีการตรวจอะไรบ้างเพื่อให้ได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

 

มีเครื่องมือตรวจการเต้นของหัวใจหลายชนิดที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, EKG) เป็นการตรวจมาตรฐานของการตรวจการเต้นของหัวใจ เหมาะกับผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีอาการนานพอที่จะมาถึงโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง (Holter monitoring) ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะต้องติดเครื่องบันทึกติดตัวตลอดเวลา 24-48 ชั่วโมงเหมาะกับผู้ที่มีอาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกวันหรือเกือบทุกวัน แต่อาการเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ไม่นานพอที่จะมาตรวจที่โรงพยาบาล  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นการบันทึกต่อเนื่องเป็นเวลานาน เครื่องจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของการเต้นของหัวใจได้แม้ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่มีอาการ

 

 

  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา (Event recorder/Loop recorder) เหมาะกับผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาการไม่บ่อย อาจจะเดือนละ 1-2 ครั้ง และอาการไม่นานพอที่จะไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล อุปกรณ์มีลักษณะคล้ายโทรศัพท์มือถือ พกพาไปในที่ต่างๆ เมื่อมีอาการจึงนำเครื่องมาทาบที่หน้าอก กดปุ่มบันทึก ก็จะได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการ แต่ไม่ได้รายละเอียดเท่าการตรวจด้วยเครื่อง EKG มาตรฐานหรือ Holter monitoring เนื่องจากมีหน่วยความจำจำกัด แต่ก็มากพอที่จะให้การวินิจฉัยได้ ผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติเวลาเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจะใช้วิธีนี้ไม่ได้
  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable loop recorder, ILR) เครื่องจะมีลักษณะคล้ายหน่วยความจำชนิดพกพาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (USB flash drive) แพทย์จะฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย เครื่องจะบันทึกการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีหน่วยความจำจำกัด เครื่องจะเก็บคลื่นไฟฟ้าหัวใจเฉพาะช่วงเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะตามที่ได้โปรแกรมไว้ก่อน หรือเมื่อผู้ป่วยต้องการเท่านั้น เครื่องมีอายุแบตเตอรี 2-3 ปี เครื่องนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาการนานๆ ครั้ง แต่อาการรุนแรงเช่นผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติที่ไม่ทราบสาเหตุ

 

 

  • การตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจ ( Cardiac Electrophhysiology, EP study) วิธีนี้ต้องมีการสอดใส่สายสวนไปที่หัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขา แพทย์สามารถตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจและกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นได้ โดยทั่วไปเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูงแต่เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีราคาแพง จึงใช้วิธีนี้กับคนไข้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในกรณีที่ไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติด้วยวิธีอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 

 

 

จะรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างไร?

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิดและมีหลากหลายสาเหตุ การรักษาจึงมีความแตกต่างกันออกไป ประการแรกต้องมุ่งแก้ไขสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น เลิกการดื่มเครื่องดื่มหรือทานอาหารที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ รักษาโรคหรือภาวะที่เป็นตัวกระตุ้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อแก้ไขแล้วยังมีหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่อีก การรักษามุ่งแก้ไขหรือรักษาการเต้นที่ผิดจังหวะซึ่งพอแบ่งแนวทางการรักษาได้ ดังนี้

  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ แก้ไขโดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติขั้นรุนแรงทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ รักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ (Automated Implantable Cardioverter Defibrillator, AICD)
    • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วย
  • i.( Antiarrhythmic drug)
  • ii.( Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA)

 

 

 

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA) 

 

เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำหรือแดงที่บริเวณขาหนีบ แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจนี้ตรวจหาความผิดปกติภายในผนังด้านในของหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อพบแล้วแพทย์จะทำการจี้ทำลายบริเวณดังกล่าวด้วยคลื่นวิทยุซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส เป็นการรักษาวิธีเดียวที่สามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายเป็นปกติได้ ในอดีตการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ในรายที่ทานยาแล้วไม่ได้ผล หรือทานยาได้ผลแต่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแพทย์ทำให้การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีนี้ มีความสำเร็จสูงโดยมีภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะผู้ป่วยอายุน้อยที่ไม่ต้องการทานยาตลอดชีวิต ในกรณีที่มีความผิดปกติเพียงตำแหน่งเดียว มีโอกาสรักษาสำเร็จสูงถึง 90-95% ขึ้นกับชนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยมีภาวะแทรกซ้อนต่ำประมาณ 1% โรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น การจี้ถูกสายไฟฟ้าปกติทำให้หัวใจเต้นช้าตลอดเวลา ซึ่งจะเกิดเฉพาะในรายที่บริเวณที่ผิดปกติและสายไฟฟ้าปกติอยู่ใกล้กันมากเท่านั้น อาจมีการเจ็บต่อหลอดเลือดดำหรือแดงบริเวณที่ใส่สายสวนเข้าไป ในรายที่มีความผิดปกติหลายตำแหน่ง เช่น ที่พบในผู้ป่วยหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation, AF) ทำให้มีจุดที่ต้องจี้มาก โอกาสจะรักษาสำเร็จโดยการทำครั้งแรกจะลดลงเหลือ 70%-80% บางรายอาจต้องทำ 2-3 ครั้งเพื่อจี้ความผิดปกติให้หมดไป

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือ เป็นการรักษาคล้ายการผ่าตัดเล็กซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1-2 วัน ค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจเต้นผิดจังหวะและมีเครื่องมือที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม มีผลงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการรักษาด้วยวิธีจี้เทียบกับการใช้ยาในระยะยาว

 

 

ใครควรรับการรักษาด้วยวิธีจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ? 

 

การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายเป็นปกติได้ ผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้คือ

  • แก้ไขสาเหตุที่แก้ไขได้แล้วแต่ยังมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
  • รับประทานยาแล้วมีผลข้างเคียง
  • ต้องการหายขาด ไม่ต้องการที่จะทานยาต่อเนื่องระยะยาว

การรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุเป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติได้

 

Health Infographic : Cardiac Arrhythmia ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ