อาการกลืนติด จุก แน่นที่บริเวณคอ ระวังแผลเรื้อรังในหลอดอาหาร

February 23 / 2024

 

 

อาการกลืนติด กลืนอาหารลำบาก จุก แน่น ที่บริเวณคอ

หรือที่หน้าอก.. ระวัง! แผลเรื้อรังในหลอดอาหาร

 

 

 

 

การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เรียกว่าเป็นไลฟ์สไตล์ ของแต่ละคนที่สำคัญมากต่อการเกิดแผลในหลอดอาหาร เพราะมีรสนิยมในการรับประทานอาหารรสจัด อาหารหมักดองของทานเล่น ของมันมากๆ ของหวานจัด ซึ่งอาหารพวกนี้จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้นและมีโอกาสที่แก๊สจะล้นทะลัก ซึ่งกรดหรือน้ำย่อยจะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดแผลได้ และจะทำให้มีอาการกลืนติด กลืนอาหารลำบาก มีอาการจุกแน่นที่บริเวณคอ หรือที่หน้าอกตามมา

 

 

ทำไมจึงเกิดแผลในหลอดอาหาร?

 

อาหารที่รับประทานเข้าไปจะต้องผ่านหลอดอาหารลงไปเรื่อยๆ จนถึงกระเพาะอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างตัวช่องปากไปยังกระเพาะอาหารที่มีลักษณะคล้ายท่อกลมขนาดสั้น ทำหน้าที่เป็นทางลำเลียงอาหารไปสู่กระเพาะอาหาร แต่ไม่มีหน้าที่ในการย่อยอาหาร หลอดอาหารสามารถหดตัวและคลายตัวเป็นจังหวะเป็นช่วงๆ ต่อเนื่องกัน และสามารถบีบตัวให้หลอดอาหารปิดเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร

 

 

สาเหตุอื่นๆ เช่น เรื่องของยาบางชนิดก็อาจทำให้เกิดแผลในหลอดอาหารได้เช่นกัน รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสก็สามารถทำให้เกิดแผลในหลอดอาหารได้ด้วย

 

 

การทานอาหารบางอย่างที่มีรสเปรี้ยวจัด เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พวกนี้ก็จะมีผลตามมา บางคนถ้าทานไปเยอะมากๆ มันจะไปกัดหลอดอาหารได้ ที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องของยาบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือ ยารักษาสิว ถ้าทานแล้วรีบนอนจะทำให้ยาตกค้างในที่หลอดอาหารก็ทำให้เกิดแผลในที่หลอดอาหารได้

 

 

 

 

 

 

แผลในหลอดอาหารมีอาการอย่างไร?

 

อาการที่พบมีได้หลากหลาย ตั้งแต่การเจ็บหน้าอก แสบร้อนในช่องอกแล้วก็เรอเปรี้ยว มีอาการจุกแน่นหน้าอกร่วมกับถ้ามีอาการเป็นมากๆ ก็จะทำให้มีอาการกลืนติด กลืนลำบากได้ ทำให้มีอาการไอ สำลัก หรือบางคนเป็นมากอาจถึงกับเป็นหอบได้เลย ทั้งนี้แผลในหลอดอาหารมักจะมีอาการของโรคกระเพาะอาหารและหลอดอาหารอักเสบร่วมด้วย ซึ่งพวกนี้ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นร่วมกับหูรูดของตัวหลอดอาหารมันบีบตัวได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดเพิ่มมากขึ้นซึ่งตามมาด้วยแผลในหลอดอาหารที่มากขึ้นด้วย

 

 

 

 

 

 

 

ถ้าไม่รับการรักษาแผลในหลอดอาหารจะเป็นอย่างไร?

 

ถ้าปล่อยให้แผลในหลอดอาหารอักเสบและเป็นเรื้อรังมานาน จากแผลเล็กๆ มันก็จะค่อยๆ ขยายมากขึ้น มีการกระจายของเซลล์ค่อนข้างเร็ว ทำให้เซลล์ตรงนั้นผิดปกติแล้วก็เสื่อมสภาพกลายป็นมะเร็งได้ ส่วนใหญ่จะมาด้วยเรื่องของอาการกลืนติด กลืนลำบาก อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมได้บ้าง รู้สึกจุกๆ ที่คอหรือทานอาหารแล้วสำลัก พอคนไข้มีอาการทานไม่ได้และสำลักจะทำให้น้ำหนักลดขาดสารอาหารแล้วก็ผอมลงและอาจตามมาด้วยเรื่องของมะเร็งหลอดอาหารได้ในที่สุด

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลในหลอดอาหาร

 

  • อาการที่เกิดข้างในท่อที่ตีบจากแผลเรื้อรังจนทำให้เกิดพังผืดเข้าไปติดในหลอดอาหารแล้วทำให้หลอดอาหารตีบ
  • อาการข้างนอกคือถ้ามีแผลเยอะมากหรือว่าแผลลึกลงไปจนถึงผนังหลอดอาหารจะทำให้หลอดอาหารทะลุ แล้วก็มีกรดหรือน้ำย่อยทะลุออกไปที่ช่องอกก็จะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

แผลในหลอดอาหารรักษาหายขาดหรือไม่?

 

แผลในหลอดอาหารมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ถ้าคนไข้มาพบแพทย์ในระยะแรกๆ เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถที่จะตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยได้แม่นยำ

 

 

  • การเอ็กซเรย์แบบธรรมดา
  • เอ็กซเรย์กลืนแป้ง ไปจนถึงเอ็กซเรย์ร่วมกับการใช้สารทึบรังสี
  • สำหรับวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการส่องกล้องทางเดินอาหาร

 

 

โดยเฉพาะการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเข้าไปถ่างขยายหลอดอาหารซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการถ่างบอลลูนเพื่อขยายรูที่ตีบให้กว้างขึ้น เราสามารถเห็นลักษณะของหลอดอาหารได้ตลอด แล้วก็เห็นลักษณะของผิวหลอดอาหารได้ ซึ่งถ้าเราสงสัยว่ามีความผิดปกติของแผลที่หลอดอาหารว่ามีเซลล์ผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อเราก็สามารถที่จะสะกิดเอาชิ้นเนื้อบริเวณแผลที่ผิดปกติออกมาตรวจได้ และสามารถรักษาเรื่องแผลจากภาวะแทรกซ้อนร่วมกันไปได้

 

 

แต่หลักๆ แล้วจะเป็นการรักษาด้วยยาซึ่งปัจจุบันค่อนข้างที่จะมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มยาลดกรดถ้ารับประทานได้ดีและต่อเนื่องในเวลาที่กำหนด การรักษาแผลในหลอดอาหารก็จะสามารถหายได้ แต่ถ้าเราหยุดยาก่อนและรับประทานยาไม่สม่ำเสมอก็มีโอกาสที่แผลในหลอดอาหารจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

 

 

ถ้าปล่อยให้แผลในหลอดอาหารอักเสบและเป็นเรื้อรังมานาน จากแผลเล็กๆ มันก็จะค่อยๆขยายมากขึ้น มีการกระจายของเซลล์ค่อนข้างเร็วทำให้เซลล์ตรงนั้นผิดปกติแล้วก็เสื่อมสภาพอาจกลายเป็นมะเร็งได้