กินได้ สบายดี แต่น้ำหนักกลับลด สัญญาณบ่งชี้ ไทรอยด์เป็นพิษ !?

August 02 / 2023

 

กินได้ สบายดี...แต่น้ำหนักกลับลด

สัญญาณบ่งชี้...ไทรอยด์เป็นพิษ !?

 

 

“ บริเวณลำคอด้านหน้าหลอดลมจะมีต่อมไทรอยด์ซึ่งเคลื่อนตัวขึ้นลงได้ตามจังหวะที่เรากลืนน้ำลาย แต่หากต่อมนี้บวมโตขึ้นจะทำให้ขนาดของคอใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในที่สุดอาจต้องไปพบแพทย์เพราะผิดสังเกตจากคอบวมนี่เอง ”

 

 

โรคไทรอยด์เป็นพิษ คือ โรคที่ต่อมไทรอยด์มีฮอร์โมนระดับสูงอยู่ในกระแสเลือด

 

 

การที่ฮอร์โมนสูงเกินมีหลายสาเหตุ ?

 

  • ประการแรกคือเกิดจากตัวไทรอยด์เองผลิตฮอร์โมนมากขึ้น
  • ประการต่อมาคือมีเหตุจากที่อื่นซึ่งไม่ใช่ตัวต่อมไทรอยด์เองก็ได้

 

เช่น เป็นส่วนที่ออกมาจากต่อมใต้สมองกระตุ้นฮอร์โมนที่ผลิตสร้างตัวกระตุ้นไทรอยด์ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้นก็ได้หรืออาจเป็นจากโรคในกลุ่มอื่นก็ได้เช่นกัน และไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มคนอายุ 20-40 ปี มักเป็นช่วงอายุที่พบไทรอยด์เป็นพิษมากที่สุดนั่นก็เพราะว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ร่างกายเราสามารถสร้างและผลิตฮอร์โมนได้มากโอกาสเป็นก็เลยมากและพบมากตามไปด้วย โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และความเสี่ยงส่วนใหญ่คือมีคนในครอบครัว เช่นพ่อแม่เป็นมาก่อนก็จะส่งผลให้ลูกมีแนวโน้มเป็นไทรอยด์เป็นพิษได้มากขึ้น

 

สมัยก่อนมีความเชื่อว่าหากเราได้สารอาหารบางอย่างเกินขนาด เช่น พวกไอโอดีน ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ โดยกลุ่มคนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะมาด้วยเรื่องน้ำหนักลดเป็น

 

  • อันดับแรกน้ำหนักลด ประเภทกินได้ สบายดี แต่ว่าน้ำหนักลดกินเก่งหิวบ่อย แต่ยิ่งกินน้ำหนักยิ่งลด
  • อันดับสองคือมาด้วยอาการคอโต อันนี้ก็เจอได้
  • อันดับสามคือมาด้วยอาการทั่วไปคือหงุดหงิด มือสั่น ใจสั่น แล้วก็เหงื่อออกง่าย บางคนก็จะมีผมร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง บางคนก็มาด้วยเรื่องประจำเดือนขาด หรือมาน้อยก็มีบ้าง

 

ซึ่งหมอจะทำการตรวจโดยดูสัญญาณชีพก่อนว่าชีพจรเป็นอย่างไร เต้นเร็วไหม แล้วก็ดูเรื่องของน้ำหนักว่าน้ำหนักตัวเป็นอย่างไรบ้าง อาจจะดูประวัติเก่าของผู้ป่วยว่าเคยมีน้ำหนักจากเดิมจนถึงปัจจุบันนี้ลดลงไหม อาการอย่างอื่นก็คือดูมีคอโตหรือไม่ และอาจมีการแสดงออกทางตาก็ได้ เช่น บางคนมีตาโปนหรือว่ามีหนังตาบวมตึงพวกนี้ก็จะช่วยบอกได้ บางคนมีปัญหาขาอ่อนแรงเดินขึ้นบันไดไม่ไหวก็มี

 

 

 

วิธีการตรวจและทราบได้อย่างไรหากมีใครก้าวเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงไทรอยด์เป็นพิษแล้ว ?

 

เรื่องนี้ไม่ยากค่ะ คุณหมอบอกว่าใช้วิธีเจาะเลือดเพื่อดูค่าฮอร์โมนในเลือดว่าสูงหรือไม่ ถ้าสูงก็ยืนยันได้ว่าไทรอยด์เป็นพิษ การตรวจแบบอื่นที่จะช่วยยืนยันก็คือการตรวจที่เขาเรียกว่าตรวจโดยการกลืนน้ำแร่ไอโอดีนเพื่อวัดปริมาณการทำงานของต่อมไทรอยด์ ถ้าสูงผิดปกติก็จะเข้าสู่กลุ่มไทรอยด์เป็นพิษได้

 

ไทรอยด์เป็นพิษส่วนใหญ่จะมีวิธีในการรักษาหลายแบบด้วยกันและส่วนใหญ่ก็สามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้แต่ถ้าคนไข้ที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อยโอกาที่โรคจะสงบแล้วกลับมาใหม่ก็มีเช่นกัน เพราะฉะนั้นการรักษาบางคนก็หายไปนาน แต่บางคนก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้ ซึ่งวิธีการรักษาส่วนใหญ่มี 3 วิธี

 

  • วิธีแรกการกินยา เป็นวิธีที่มักใช้กันคือเริ่มรักษาด้วยการกินยาก่อนและถ้ากินแล้วสามารถควบคุมโรคได้ หมออาจจะใช้การปรับเรื่องยาให้กินไปราวๆ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ถ้าโรคสงบควบคุมได้ก็จะหยุด
  • วิธีที่สองการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยไม่สะดวกในการกินยา เพราะอาจอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือ ต่อมไทรอยด์โตมาก หรือมีอาการแพ้ยาบางชนิดก็อาจจะเปลี่ยนมาใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นโดยการผ่าตัด
  • วิธีที่สามการรักษาด้วยสารรังสี จะเป็นการกินน้ำที่ประกอบด้วยสารไอโอดีน กัมมันตรังสี ที่ได้รับการคำนวณขนาดไว้ให้พอดีกับแต่ละบุคคล

 

 

ข้อสงสัยอื่นที่ตามมาอีกคือ...มีโอกาสเจอโรคแทรกซ้อนจากไทรอยด์เป็นพิษหรือไม่ ?

 

ผู้ป่วยจะเป็นโรคนี้ร่วมกับโรคหัวใจ ถ้าสมมติว่ามีโรคหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจโต และหากเราควบคุมไทรอยด์ไม่ได้ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตัวหัวใจได้ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น โอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะเพิ่มขึ้น

 

ส่วนใหญ่แล้วสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้หมอจะพิจารณาว่าปรับยากินไทรอยด์จนควบคุมได้ในระดับหนึ่งก่อนส่งไปรักษาด้วยการกินน้ำแร่ไอโอดีน เพื่อทำลายไทรอยด์ให้ทำงานลดลงหรือบางครั้งอาจจะยอมให้ไทรอยด์ทำงานต่ำไปเลยโดยเก็บเป็นฮอร์โมนทดแทนซึ่งจะปลอดภัยกว่า เพราะถ้าเราปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาไทรอยด์เป็นพิษอย่างแรกที่จะเจอคืออาการจะตามมามากขึ้น

  • น้ำหนักจะลดลงเยอะขึ้น
  • มีอาการเหนื่อยมากขึ้น

 

และเวลาที่เราเหนื่อยมากๆ ไทรอยด์จะเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจทำงานเร็วขึ้น เมื่อหัวใจทำงานเร็วมากๆ ก็จะมีโอกาสเต้นผิดจังหวะซึ่งก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจขึ้นเพราะหัวใจเป็นตัวบีบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะฉะนั้นลิ่มเลือดก็อาจจะหลุดไปอุดปลายทางก็จะทำให้เกิดอาการขาดเลือดปลายทางส่วนนั้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนปลายทางของตัวไทรอยด์

 

 

หากมีเวลาควรตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเช็คไทรอยด์กันไว้สักหน่อยเพื่อความไม่ประมาท โดยเฉพาะท่านที่มีคอโตอย่าวางใจเด็ดขาด เพื่อให้ทราบและรักษาได้ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ในวันข้างหน้า

 

 

แก้ไข

02/08/2566