ใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวาน ต้องคุม ไขมันในเลือดและออกกำลังกาย

February 23 / 2024

 

 

 

ใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานอย่างสบาย

ต้องคุม ไขมันในเลือดและออกกำลังกาย 

 

 

 

 

 

พญ.วลัยรัตน์ จริยะเศรษฐพงศ์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

 

 

 

การตรวจเลือดช่วยให้รู้ข้อมูลหลายอย่าง

 

 

เลือดที่ถูกเจาะไปตรวจในห้องปฏิบัติการนั้นบอกให้เรารู้อะไรหลายอย่าง โดยอย่างแรกก็คือ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ที่นอกจากจะช่วยให้ทราบถึงสุขภาพโดยรวมของผู้เป็นเจ้าของเลือดมีภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือได้รับสารพิษ รวมถึงภาวะขาดสารอาหารยังจะช่วยให้ทราบถึงระดับไขมันในเลือด ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอมีข้อมูลในการวินิจฉัยถึงภาวะไขมันในเลือดสูง โดยดูจากระดับไขมันที่เรียกว่าคอเรสเตอรอลรวมซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือคอเรสเตอรอลตัวไม่ดีหรือ LDL ซึ่งถือว่าเป็น ไขมันตัวร้าย และคอเรสเตอรอลตัวดีหรือ HDL ซึ่งเป็น ไขมันตัวพระเอกส่วนไขมันอีกชนิดหนึ่ง คือ “ไขมันไตรกลีเซอไรด์” 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นเบาหวานยิ่งต้องระวังระดับไขมันในเลือดให้มาก

 

 

 

  • ปัญหาจากการมีระดับไขมันในเลือดสูงระหว่างคนปกติทั่วไปกับคนที่เป็นเบาหวานจะแตกต่างกันโดยถ้าไตรกลีเซอไรด์สูงเล็กน้อยหรือปานกลาง หรือเกินกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด และสมองขาดเลือด แต่ถ้าระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ส่วนภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูงในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะ LDL คอเลสเตอรอลคือคอเลสเตอรอลตัวไม่ดีซึ่งในผู้ป่วยเบาหวานจะมีเกณฑ์ค่าปกติที่น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีไขมันในเลือดคือ LDL สูง LDL ก็จะไปสะสมตามหลอดเลือดแดงแล้วหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ป่วยเบาหวานกลไกการหนาตัว และตีบของเส้นเลือดแดงจะมีความไวมากกว่าในผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน ทำให้ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันตามอวัยวะต่างๆ หลอดเลือดแดงที่สมองตีบตันจะมีภาวะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต มีภาวะมาด้วยแขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชาทำให้เป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้หลอดเลือดที่หัวใจตีบตันจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้ ส่วนหลอดเลือดแดงที่ปลายเท้าตีบตันจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเดินแล้วมีอาการปวดชาที่ขา เส้นเลือดไปเลี้ยงที่ปลายเท้าไม่ดีแผลหายช้าเป็นสาเหตุให้เกิด การถูกตัดเท้าจากเบาหวานได้ 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.วลัยรัตน์ จริยะเศรษฐพงศ์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผศ.ดร. สิทธา พงษ์พิบูลย์
ผู้ชำนาญการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
ปอด และการออกกำลังกาย

 

 

 

ออกกำลังกายช่วยลดเบาหวานได้จริง?

 

 

 

นอกจากรับประทานยาผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องดูแลตัวเองวิธีอื่นควบคู่อีกด้วย ผศ.ดร. สิทธา พงษ์พิบูลย์ ผู้ชำนาญการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอดและการออกกำลังกายประจำ แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดโรงพยาบาลรามคำแหงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคเบาหวาน ทางการแพทย์ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การดูแลตัวเองก็มี 2 วิธีหลักๆ หนึ่งคือต้องดูเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อจะให้ระดับน้ำตาลไม่สวิงมาก อันที่ 2 ก็คือเรื่องของการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายถือว่าเป็นยาในการรักษาเบาหวานเลย เพราะว่าพอออกกำลังกายแล้วก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของเขาดีขึ้น มันจะช่วยทำให้เซลล์ไวต่ออินซูลิน เพราะว่าอินซูลินจะเป็นตัวที่ช่วยนำพาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ การคุมเบาหวานก็จะดีขึ้น น้ำตาลสะสมเฉลี่ยก็จะดีขึ้น แล้วโดยปริยายยาที่รับประทานก็จะน้อยลง พอออกกำลังกายไปแล้วก็จะทำให้สมรรถภาพหัวใจแข็งแรงขึ้นและช่วยเพิ่มสมรรถนะทางกายอีกด้วย หากเกิดมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหัวใจจะแข็งแรงขึ้น ทำให้ไขมันในเลือดลดลง และก็ไขมันที่ดีเพิ่มขึ้น แล้วก็อีกหลายๆ อย่างที่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้

 

 

 

 

วิธีรักษา-ปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม?

 

 

การรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับไขมันในเลือดสูงแบ่งออกเป็น 3 กรณีมีตั้งแต่การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยาโดยที่การควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานหลักใหญ่ ๆ จะต้องรับประทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและได้ครบทุกสัดส่วนทั้งไขมันคาร์โบไฮเดรตโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร

 

 

 

 

ค่าไขมันเท่าไหร่จึงจะดี?

 

 

ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดน้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับไขมัน HDL ไขมันตัวดีในผู้ชายควรจะมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้หญิงควรจะมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และไขมันตัวที่สำคัญคือไขมัน LDL คอเลสเตอรอลควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งหากจะควบคุมเบาหวานได้ดีก็ควรมาเช็คเลือด ตรวจระดับน้ำตาล ตรวจค่าน้ำตาลสะสม แล้วเช็คระดับไขมันในเส้นเลือดเป็นประจำอย่างน้อย 2 – 3 เดือนต่อครั้ง

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/747

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ผศ.ดร. สิทธา พงษ์พิบูลย์
ผู้ชำนาญการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ
ปอด และการออกกำลังกาย