'ระบบติดตามการเต้นของหัวใจ' ไม่ว่าใกล้หรือไกล ก็รู้จังหวะหัวใจที่ผิดไป

December 27 / 2024

 

 

หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าหรือเต้นเร็วก็อันตราย !!!

 

 

ระบบติดตามการเต้นของหัวใจทางไกลระบบติดตามการเต้นของหัวใจทางไกล

 

 

รศ.นพ.บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

 

 

 

     

     การจับตัวผู้ร้ายให้ได้เพื่อยืนยันว่าอาการผิดปกติที่เรามีนั้น ใช่หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ถ้าใช่ เป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไหนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นการมีระบบติดตามการเต้นของหัวใจติดตามตลอดเวลาคือหัวใจสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะเกิดอาการ

 

เข้าใจธรรมชาติของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

     หัวใจเต้นผิดจังหวะมีนับ 10 ชนิด แต่ละชนิดก็มีสาเหตุ อาการ ความรุนแรงและวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน บางชนิดไม่มีอาการ มารู้ก็ตอนมาตรวจเช็คสุขภาพหรือมาโรงพยาบาลด้วยโรคอย่างอื่น บางชนิดแค่ทำให้เกิดใจสั่น น่ารำคาญ ชนิดที่รุนแรงมากขึ้นก็ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืดเป็นลม หมดสติ แม้แต่หัวใจวายเฉียบพลันก็ยังเป็นไปได้

 

ระบบติดตามการเต้นของหัวใจทางไกล

 

 

ระบบติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกลส่งข้อมูลได้ถึงแพทย์

     ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทำให้เกิดระบบติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกลที่เรียกว่า Remote Heart Rhythm Monitoring ซึ่งส่งข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บันทึกได้ขณะมีอาการสู่ระบบคลาวด์ (Cloud Storage) แอพพลิเคชั่นของโทรศัพท์มือถือที่ผู้ป่วยติดตัวอยู่ ทำให้แพทย์ดูข้อมูลที่จัดเก็บไว้บนระบบคลาวด์ได้ทุกที่ทุกเวลาและสามารถให้การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เร็วโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล 

 

 

ระบบติดตามการเต้นของหัวใจทางไกล

 

 

ระบบติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกลเหมาะสำหรับกรณีใด?

ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นไม่บ่อย เป็นช่วงเวลาสั้นๆ หรือเป็นลมหมดสติซึ่งไม่สามารถตรวจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีตรวจอื่น 

 

  • ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation, AF) ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงทุกวันอย่างต่อเนื่องจะเพิ่มโอกาสตรวจพบหัวใจห้องบนเต้นพลิ้วได้มากขึ้นและสามารถให้การรักษาได้ก่อนจะเกิดหลอดเลือดสมองอุดตัน
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งมีสาเหตุเกิดจากหัวใจเต้นพลิ้ว แต่ไม่สามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จึงอาจเกิดหลอดเลือดสมองอุดตันซ้ำใหม่ได้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าให้บ่อยและนานขึ้นจะช่วยวินิจฉัยได้มากขึ้น
  • ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ได้รับการรักษาด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รักษาโรคหัวใจชนิดฝัง แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจก็ล้วนมีภาระที่ต้องเข้ารับการตรวจเช็คการทำงานของเครื่องที่โรงพยาบาลทุก 3-6 เดือน จึงไม่สะดวกสำหรับผู้อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศรวมทั้งบางรายที่มีอายุมากและยุ่งยากต่อการเคลื่อนย้าย
  • ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจการทำงานของเครื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปที่โรงพยาบาล ทุกวันนี้จึงมีการเปิดให้บริการติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกลกันบ้างแล้ว โดยมีแพทย์เป็นผู้เลือกอุปกรณ์การตรวจให้เหมาะกับโรคของผู้ป่วยแต่ละราย

 

 


ระบบนี้จะมาช่วยเสริมทำให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ดีขึ้น สะดวกขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดการเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย


 

 

อ่านเพิ่มเติม: โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากอะไรบ้าง และรักษาหายได้จริงไหม