บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม

February 22 / 2024

 

 

 

ศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม

 

 

สตรีวัยเกิน 50 ปี สัมผัสแสงยูวีบ่อย  ความดันสูง  สูบบุหรี่  ให้ระวัง มีโอกาสเจอสูง

 

 

 

 

 

 

พญ. อรุณี ตั้งศิริชัยพงษ์

จักษุแพทย์
 

 

 

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมที่มารบกวนคนเราเมื่อมีวัยสูงขึ้น และไม่อาจหลบเลี่ยงความเสื่อมตามอายุซึ่งหลายคนมีโอกาสเจอ คือโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีวัยเกิน 50 ปี ไปแล้วจะมีโอกาสเป็นโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมนี้ได้มากกว่าผู้ชาย โดยมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปด้วย เช่น การมีประวัติพันธุกรรมเป็นโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม การทำงานกลางแจ้งที่ได้สัมผัสแสงยูวีเป็นประจำ มีภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดก็สูง และการสูบบุหรี่ ซึ่งจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมได้มากกว่าคนปกติที่ไม่ได้สูบสำหรับใครที่เป็นโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมแล้วในช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเหมือนกับมองไม่ค่อยชัดหรืออาจจะต้องใช้แสงไฟที่สว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะที่ในบางรายซึ่งเป็นมากจะมีความรู้สึกว่าเวลาดูเส้นตรงจะมองเห็นว่ามีลักษณะเบี้ยว คดเคี้ยวไม่เป็นเส้นตรงหรืออาจมองเห็นคล้ายมีเงามืดเงาดำมาบังการมองเห็น

 

 

 

(ตาราง Amsler grid ตารางที่ช่วยตรวจคัดกรองโรคของจุดรับภาพชัดได้ด้วยตัวเอง)

 

 

 

 

สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้เลยง่าย ๆ โดยการใช้ตารางตรวจจุดภาพชัด หรือ Amsler grid ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากอินเตอร์เน็ต วิธีการตรวจโดยใช้แผ่นตารางนี้ตรวจที่ระยะระดับสายตาห่างจากตาประมาณ 14 นิ้ว โดยต้องปิดตาข้างหนึ่งไว้ และใช้ตาอีกข้างมองบริเวณจุดดำตรงกลางของตารางแผ่นนั้น แล้วสังเกตดูว่าตารางที่เราเห็นมีลักษณะเส้นที่บิดเบี้ยวคดเคี้ยวไปหรือไม่ หรือมีลักษณะขาดหายหรือไม่ หรือมีเงามืดเงาดำอะไรมาบังไว้หรือเปล่า 
 

ถ้าเห็นว่ามีลักษณะดังกล่าวต้องรีบพบจักษุแพทย์โดยด่วน เพื่อจะได้เข้ารับการขยายม่านตาตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียดร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมบางอย่างเช่น การฉีดสี เพื่อถ่ายภาพจอประสาทตาแล้วก็มีการตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตาโดยการใช้แสงเลเซอร์ซึ่งการตรวจเหล่านี้ทำร่วมกันในการวินิจฉัยและหาขอบเขตตำแหน่งของความผิดปกติเพื่อการวางแผนการรักษา

 

 

 

 

โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมสามารถป้องกันได้ไหม?

 

 

แม้ว่าโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจะมากับ “ความเสื่อมตามวัย” แต่ยังสามารถดูแลเรื่องนี้ได้โดยต้องเน้นในแง่ของ “การป้องกัน” จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เราหลีกเลี่ยงได้ เช่น งดสูบบุหรี่ หรือในแง่ของแสงยูวีก็ควรใส่แว่นป้องกันไว้ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง และอาหารที่มีสารพวกลูทีนและซีแซนทีน เช่น คะน้า ปวยเล้ง  แอปเปิ้ล องุ่น  อีกทั้งคุณหมอยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่าในกลุ่มที่อายุน้อย ๆ ก็สามารถเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบอื่นได้ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากภาวะสายตาสั้นมาก แต่พบน้อยกว่า 

 

 

 

 

ไม่ว่าจะวัยไหน แพทย์แนะนำควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง

 

ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/66

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ. อรุณี ตั้งศิริชัยพงษ์

จักษุแพทย์