ลูกนอนกรนแบบไหนที่ต้องพาไปพบแพทย์ ?

January 31 / 2024

 

 

ลูกนอนกรนแบบไหนที่ต้องพาไปพบแพทย์ ?

 

 

 

 

พญ.ธัญรดา  เลี่ยมเส้ง 

แพทย์ด้าน หู คอ จมูก 

 

 

 

 

 

นอนกรนในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ควรปล่อยเรื้อรัง

 

 

คุณพ่อ-คุณแม่ อาจเคยได้ยินเสียงกรนของลูกในยามค่ำคืน แต่อาจไม่เคยล่วงรู้เลยว่าลูกนอนกรนมีโรคซึ่งทำให้เกิด “ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นจนทำให้ถึงกับหยุดหายใจ" และพอหยุดหายใจก็จะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังที่ส่งผลให้ลูกน้อยมีโรคตามมาหลายอย่าง โดยทั่วไปที่เจอบ่อยที่สุด เกิดจากต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งทางเดินหายใจส่วนบนของเด็กมีขนาดเล็กขณะที่ต่อมพวกนี้โตมันจะขวางทางเดินหายใจส่วนบนทำให้หยุดหายใจแล้วก็ขาดออกซิเจน สาเหตุอื่นๆ ที่เจอได้ก็คือ โรคของทางด้านภูมิแพ้ทางจมูก, ไซนัสอักเสบ, มีความผิดปกติของจมูก เช่น ผนังจมูกคด ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับเยื่อบุจมูกบวมโต โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยสุดจะอยู่ที่ 2-8 ขวบเพราะในช่วงที่ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้บ่อยที่สุดจะเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดอักเสบทำให้ต่อมน้ำเหลืองในช่องคอโตขึ้นบ่อย หรือเด็กอาจจะมีลักษณะของโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าผิดปกติ, เด็กเป็นโรคอ้วนหรือโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม

 

 

 

 

วิธีสังเกตว่าลูกนอนกรนหรือไม่?

 

 

อาการของโรคนอนกรนแล้วหยุดหายใจในเด็กส่วนใหญ่จะแสดงว่าเวลาเด็กนอนหลับเขาจะนอนกระสับกระส่ายไปมาหาท่าที่ทำให้หลับสบายเด็กบางคนจะหายใจทางปากทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วปากคอจะแห้งถ้าลูกนอนกรนแบบยาวเรื้อรังแบบนี้ไปเรื่อยๆลักษณะใบหน้าของเขาจะผิดรูปเพราะหายใจทางปากตลอดเวลาส่งผลให้หน้าจะแหลม ฟันจะยื่น และบางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนโดยเด็กอาจจะมีความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโตเพราะโกรทฮอร์โมนหลั่งขณะหลับจึงส่งผลได้หลายแบบ เช่น เด็กอาจซนผิดปกติ, ตัวเล็กกว่าเพื่อน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังไปเรื่อยๆ เด็กก็อาจจะมีปัญหา ขาดสารอาหาร, การเรียนแย่ลงและมีผลทางด้านหัวใจและความดันโลหิตผิดปกติตามมาได้

 

 

ถ้าลูกนอนกรนต้องทำอย่างไร?

 

 

คุณพ่อ-คุณแม่รวมทั้งผู้ปกครองควรเฝ้าดูตอนที่เด็กนอนหลับเพื่อจะได้สังเกตว่าหลับแล้วเขาหยุดหายใจหรือไม่ลูกนอนกระสับกระส่ายหรือไม่หรือหยุดหายใจจนปากเขียวหรือไม่ หรืออาจมีการหายใจทางปากตลอดเวลาจนใบหน้าผิดรูปดังที่กล่าวไว้แต่แรก หรือเด็กบางคนอาจจะมีลักษณะปัสสาวะรดที่นอนบ่อยหรือเด็กก็อาจตัวเล็ก อีกอย่างคือเวลาไปโรงเรียนแล้วคุณครูมาฟ้องว่าซนผิดปกติ,มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือการเรียนแย่ลง ก็ต้องเก็บข้อมูลมาให้ครบ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลให้คุณหมอวินิจฉัยเพราะส่วนใหญ่แล้วจะซักประวัติจากพ่อแม่ก่อนที่จะให้ชั่งน้ำหนัก-วัดส่วนสูง และประเมินภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ

 

ลูกนอนกรน รักษาอย่างไร?

 

 

  • แพทย์ด้านคอหูจมูกจะทำการตรวจช่องคอ ดูต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ รวมทั้งตรวจจมูกว่ามีโครงร่างผิดปกติหรือไม่ โดยอาจจะต้องเอกซเรย์เพื่อประเมินภาวะที่อาจมีต่อมอะดีนอยด์มาขวางทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าพบว่าเป็นแบบนั้นก็อาจต้องรักษา ด้วยการผ่าตัดเอาออกทั้ง 2 ต่อมได้ผลประมาณ 78 - 100%

 

  • ส่วนถ้าเด็กมีโรคอื่นร่วมด้วยเช่น “ภูมิแพ้” ก็อาจรักษาโดยใช้ยาพ่นจมูกประมาณ 3 เดือน ให้ยาที่จะช่วยในเรื่องของการกรน พวกยารักษาโรคภูมิแพ้กลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านลิวโคไตรอีน (antileukotrienes) อีกวิธีคือรักษาภาวะอักเสบติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนร่วมด้วยควบคู่ไปพร้อมกับรักษาโรคนอนกรน จึงจะทำให้ภาวะกรน-หยุดหายใจดีขึ้น

 

 

โรคนอนกรนแล้วหยุดหายใจในเด็กเป็นโรคที่ใช่ว่าจะหายยากเพียงแต่ต้องอาศัยความสังเกตของพ่อแม่แล้วก็รักษาให้หายได้เพื่อมิให้เกิดภาวะนอนกรน-หยุดหายใจซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของเด็กและส่งผลถึงอนาคตที่ไม่แค่เพียงในแง่การเรียนเท่านั้น  หากแต่ยังจะไปถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

 

 

 

นอนกรน-หยุดหายใจในเด็กมีผลต่อพัฒนาการ...อาจถึงเสียชีวิตได้ 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.ธัญรดา  เลี่ยมเส้ง 

แพทย์ด้าน หู คอ จมูก