ผ่าตัดปลูกถ่ายไต กับโรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมคู่มืออย่างละเอียด

December 10 / 2024

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต กับโรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมคู่มืออย่างละเอียด

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 

ภาวะไตวาย

     เนื่องจากร่างกายของเรามีไตซึ่งทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งการควบคุมปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ ควบคุมความเป็นกรดและด่าง ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมการสร้างวิตามินดี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยผลิตฮอร์โมน Erythropoietin  เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงหรือแม้แต่ช่วยขับน้ำและของเสียต่าง ๆ ในร่างกายออกมาทางปัสสาวะ หากเกิดภาวะไตวายหรือไตไม่ทำงาน ของเสียจะสะสมในร่างกายจนส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในต่าง ๆ และทำให้เสียชีวิต

 

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 

อาการของผู้ป่วยโรคไตวาย

เมื่อเกิดภาวะไตวายหรือไตไม่ทํางานก็ส่งผลให้ของเสียสะสมในร่างกายจนเกิดอาการ

 

  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันตามตัว
  • ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดปกติ
  • หายใจลําบาก น้ำท่วมปอด กระดูกเปราะบางหักง่าย
  • อาจเกิดการชักและสมองหยุดทำงานได้ หากมีของเสียสะสมในสมองมาก
  • ถ้าเกิดภาวะไตวายในเด็กจะส่งผลให้ไม่เจริญเติบโตตามปกติ

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคไตวาย

  • สาเหตุของการเกิดโรคไตวาย ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่วในไต เนื้อเยื่อไตอักเสบ โรคภูมิต่อต้านตนเอง โรคถุงน้ำในไต โรคไตจากกรรมพันธุ์
  • บางสาเหตุสามารถป้องกันได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยได้รับการรักษาและควบคุมให้ดีจะป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้

 

การรักษาโรคไตวายเรื้อรัง

เมื่อป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ต่อไป ปัจจุบันรักษาโรคไตวายเรื้อรังได้ 3 วิธี ได้แก่

 

1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)   

     วิธีนี้เป็นการนําเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีของเสียปริมาณมากเข้าเครื่องฟอกเลือด โดยกรองของเสียจากเลือดและนําเลือดที่ผ่านกระบวนการฟอกแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะทําสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง โดยทำครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง หลังจากฟอกเลือดแล้วร่างกายผู้ป่วยจะแข็งแรงขึ้นและสามารถดํารงชีวิตได้เหมือนปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องมาฟอกเลือดที่ศูนย์ไตเทียมสม่ำเสมอ

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 

2. การล้างไตทางช่องท้อง (CAPD)

     วิธีนี้คือการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องของตัวผู้ป่วย โดยใส่น้ำยาครั้งละ 2 ลิตร ทำวันละ 4 ครั้ง ในขณะที่น้ำยาอยู่ในช่องท้อง ของเสียต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกายจะแพร่ออกจากกระแสเลือดเข้าสู่น้ำยาในช่องท้อง ทำให้ของเสียในเลือดลดลง ดังนั้นผู้ป่วยจะกลับมามีสภาพร่างกายที่แข็งแรง หากล้างไตทางช่องท้องเป็นประจําทุกวัน

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 

 

3. การปลูกถ่ายไตหรือเปลี่ยนไต

     การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นวิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นให้ผลดีในระยะยาวพร้อมอัตรารอดชีวิตที่สูงเมื่อเทียบการรักษาอื่น โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท

 

  • การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต นำไตหนึ่งข้างจากผู้บริจาคซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ เครือญาติหรือสามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น พี่น้อง ลูก หลาน ลุง ป้า น้า อา อย่างไรก็ตาม ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพแข็งแรงและบริจาคด้วยความสมัครใจ
  • การปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยสมองตาย นำไตที่บริจาคมาจากผู้เสียชีวิต กรณีของไตที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายสภากาชาดไทยจะเป็นผู้รับบริจาคและเป็นผู้จัดสรรไตให้แก่ผู้ป่วยไตวาย

 

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 


ปัจจุบันผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสําเร็จแล้ว จะมีอายุยืนยาวและกลับมาดํารงชีวิตได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบอาชีพได้ หลังปลูกถ่ายไตแล้วผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ตามปกติ


 

 

คุณสมบัติของผู้รับการปลูกถ่ายไต

  • เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งวัดค่าการทํางานของไตได้น้อยกว่า 15%
  • กรณีรอรับไตจากผู้ป่วยสมองตายจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาการฟอกเลือดหรือการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยาในเบื้องต้นก่อน
  • ไม่มีภาวะติดเชื้อ
  • ไม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • ไม่เป็นโรคตับแข็งชนิดที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้
  • ไม่เป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาที่หายขาดมาแล้วอย่างน้อย 2- 5 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
  • ไม่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลวเป็นต้น
  • ไม่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ไม่มีภาวะจิตใจผิดปกติ
  • ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
  • กรณีอื่น ๆ อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์  

 

 

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

1.  ภาวะปฏิเสธไต

     ภาวะปฏิเสธไต คือภาวะที่ร่างกายเริ่มต่อต้านไตใหม่ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันก็ได้ เมื่ออวัยวะใหม่เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันย่อมแปรผลเป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งคล้ายคลึงกับปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคหรือมะเร็ง แพทย์จึงต้องรักษาทุเลาภาวะนั้นด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกันพร้อมให้ความรู้เรื่องผลข้างเคียงของยา

 

ภาวะปฏิเสธไตมีหลายประเภท

  • การปฏิเสธไตเฉียบพลันขั้นรุนแรง (Hyperacute Rejection) ส่วนใหญ่ไตมักเสียทันทีหลังเปลี่ยนไตได้ 1 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์ต้องรีบนำไตออก
  • การปฏิเสธไตหลังจากปลูกไตแบบเฉียบพลัน (Acute Humoral Rejection) หรือในทางแพทย์เรียกว่า Acute cellular Rejection อาจเกิดขึ้นใน 1 - 2 สัปดาห์แรกและพบบ่อยในช่วง 1-6 เดือนแรก ซึ่งโรคเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ตลอดอายุการทํางานของไตที่ปลูกถ่าย บางรายเกิดขึ้น 5 - 10 ปี หลังเปลี่ยนไต
  • ภาวะการปฏิเสธไตเรื้อรัง (Chronic Allograft Nephropathy) ซึ่งเริ่มแสดงอาการอย่างช้า ๆ  หลังการปลูกถ่ายไตไปได้ในหลายเดือนหรือหลายปี ไตจะเริ่มเสื่อมสภาพลงช้า ๆ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยแพทย์จะเจาะชิ้นเนื้อไต (Kidney biopsy) เพื่อส่งตรวจดูว่าเป็นภาวะปฏิเสธไตชนิดไหนและมีระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ก่อนวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

 

2.  ภาวะแทรกซ้อนอื่น

  • ความเสี่ยงทางการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอด ทางเดินปัสสาวะ แผลผ่าตัด ในช่องท้อง ในตับ ในลําไส้ สมอง เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น เลือดไหลที่แผล ช่องท้อง ติดเชื้อที่แผล หลอดเลือดตีบตันหรือคั่ง ท่อไตตีบตันหรือรั่ว 
  • ภาวะแทรกซ้อนของการดมยาสลบ เช่น ปอดแฟบ ปอดอักเสบ ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว
  • ภาวะแทรกซ้อนเรื่องหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นจังหวะ
  • ภาวะแทรกซ้อนทางกระเพาะลําไส้ เช่น แผลในกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะลําไส้ ในกระเพาะลําไส้
  • ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองแตก
  • ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าว จากข้อ 2 - 7 ส่วนใหญ่รักษาได้แต่บางครั้งทําให้เสียชีวิตได้
  • การกําเริบของโรคไตที่เคยเป็นในอดีต เช่น IgA, FSGN เป็นต้น
  • ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบอันเนื่องจากการได้รับเชื้อหรือมีโรคซ่อนเร้นอื่น ซึ่งตรวจไม่ได้ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ปัจจุบัน แต่เกิดโรคตามมาได้ในภายหลัง

 

 

 


กรณีที่เกิดการปฏิเสธไตใหม่ หากได้รับการรักษาเร็วก็มีโอกาสที่ไตใหม่จะกลับมาทํางานได้เหมือนเดิม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจไม่สามารถแก้ไขได้


 

 

 

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

 

 

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต

     ผู้บริจาคต้องมีหมู่เลือดที่เข้ากันได้กับผู้รับ แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูว่าเข้ากันได้หรือไม่ โดยดูได้จากการตรวจแอนติเจนในระบบภูมิคุ้มกัน (HLA Typing) และการตรวจ DNA เพื่อดูความเข้ากันได้ทางพันธุกรรม หากมีลักษณะใกล้เคียง ก็สามารถกําหนดยีนที่ใช้ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้รับไตให้มีชีวิตอยู่ได้นาน

 

 

การตรวจผสมเลือด

     การตรวจผสมเลือด (Lymphocyte crossmatch) ยังเป็นวิธีการตรวจคาดคะเนเพื่อให้ทราบว่าผู้รับไตตอบสนองต่อเซลล์เม็ดเลือดของผู้บริจาคไตอย่างไร โดยการนำตัวอย่างเลือดของผู้บริจาคไตมาผสมกับเลือดของผู้รับไต ซึ่งจะให้ดีต้องไม่มีปฏิกิริยาตอบใด หากผลตรวจเป็นลบก็หมายความว่าไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเซลล์ของผู้บริจาค ซึ่งมีโอกาสผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จสูง

 

 

 

 

ผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

ชีวิตหลังจากเหลือไตเพียงข้างเดียว

     หากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การบริจาค ไต 1 ข้างก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจําวัน เนื่องจากไตข้างเดียวก็ยังสามารถที่รับภาระกําจัดของเสียและน้ำส่วนเกินตลอดจนหน้าที่อื่นได้มีประสิทธิภาพ โดยงานวิจัยในอดีตในรอบหลายสิบปีจากหลายประเทศทั่วโลกพบว่าการเหลือไตข้างเดียวไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตอื่นตามมาเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริจาคไต หรือถ้ามีก็น้อยมาก เช่น ความดันโลหิตอาจสูง มีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ และอายุขัยก็ยืนยาวเท่าคนปกติ

 

คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต

  • มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 18 ปี ถึง 60 ปี ถ้าอายุมากกว่า 60 ปีต้องมีสภาพร่างกายแข็งแรงตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง (ค่าความดันโลหิตตัวบน ไม่มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอทและค่าความดันโลหิตตัวล่างไม่มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
  • ไม่มีโรคเบาหวาน
  • ไม่มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรัง
  • มีค่าโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมง หรืออัลบูมินในปัสสาวะไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมง
  • มีค่าอัตราการกรองของไตมากกว่า 90 มิลลิลิตร/นาที/ 1.73 ตารางเมตร ถ้าอัตราการกรองน้อย กว่า 90 แต่มากกว่า 70 มิลลิลิตร/นาที/1.73ตารางเมตร สามารถบริจาคได้ แต่ควรพิจารณาความเสี่ยงอื่นร่วมด้วย
  • ไม่มีภาวะโรคอ้วน
  • ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางอายุรกรรม เช่น ภาวะปอดอุดตันเรื้อรัง ภาวะหัวใจขาดเลือด มะเร็ง โรคตับอักเสบหรือตับวายร้ายแรง ไม่มีภาวะติดเชื้อในร่างกาย การติดยาเสพติด โรคทางจิตเวช โรคประสาทบางประเภท เป็นต้น
  • ไม่มีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ต้องเป็นญาติโดยสายเลือด (Genetic Related) หรือคู่สมรสตามกฎหมายข้อบังคับแพทย์สภา
  • ต้องไม่เป็นการซื้อขายไต
  • ผู้บริจาคไต และผู้รับบริจาคสามารถยกเลิกการบริจาคได้ทุกเวลา

 

ข้อดี ของการได้ไต : จากผู้บริจาคที่มีชีวิต

  • ผู้รับบริจาคไตจากผู้มีชีวิตจะมีอายุการใช้งานไตมากกว่า อายุยืนกว่า
  • การผ่าตัดสามารถกําหนดเวลาได้ ทําให้มีเวลาเตรียมพร้อมทางร่างกาย และจิตใจ
  • ยากดภูมิต้านทานและยาอื่น ๆ อาจใช้น้อยกว่า ทําให้หลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

 

ควรพบแพทย์หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพื่อ

  • ตรวจดูความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจ
  • ตรวจดูการทํางานของไตใหม่ ถ้าผิดปกติจากการต่อต้านหรือ จากโรคเก่ากําเริบบางครั้งไม่มีอาการ แต่พบได้เฉพาะเมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะเท่านั้น
  • ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่สําคัญมีโอกาสเป็นอันตรายถึงแก่ ชีวิตได้ ได้แก่ การติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไขมัน

 

 

สอบถามและลงทะเบียนสมัครรอรับไตบริจาคติดต่อ 064-5646059