อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow) ร่วมรักษาและป้องกัน

December 02 / 2024

 


 

อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow)

 

 

 

 

     อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow) พบมานานกว่าร้อยปี โดยเฉพาะกลุ่มนักกีฬาเทนนิสมีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการปวดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มาหาแพทย์ด้วยโรคนี้จะเป็นนักกีฬาเทนนิสเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นหมายความว่าอาการเจ็บเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน

 

 

 

tennis elbow

 

 

สาเหตุของเส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ

     Tennis elbow เกิดจากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ยึดเกาะบริเวณปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอกได้รับความเสียหาย ส่งผลเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุ การใช้งานซ้ำ ๆ จนเส้นเอ็นเสื่อมสภาพ การเล่นกีฬา การยกของหนัก หรือลากของบ่อย หรือกิจวัตรธรรมดาในบ้านอย่างการกวาดบ้าน บิดผ้าหรือทำกับข้าว

 

กระบวนการเกิดโรค

     เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ ประกอบกับกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงตามอายุที่มากขึ้น หากใช้งานเพิ่มในสภาพที่เส้นเอ็นบริเวณที่ฉีกขาดยังไม่ฟื้นฟูตัวเองจนหายสนิท ก็สามารถเกิดการฉีกขาดซ้ำจนเกิดภาวะอักเสบและบวม ทำให้หายช้านานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน อาการอักเสบบริเวณข้อศอก อาจจะเกิดเพียงส่วนของเส้นเอ็น (Tendonitis) แต่บ่อยครั้งที่อาการอักเสบจะเกิดครอบคลุมถึงตำแหน่งที่เกาะของเส้นเอ็นบนกระดูก และข้อใกล้เคียง (epicondylitis)

 

 

อาการแสดงของเอ็นข้อศอกอักเสบ

  • อาการปวด เป็น ๆ หาย ๆ ของปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก
  • อาจปวดร้าวบริเวณหลังแขน ลงไปถึงข้อมือ
  • อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลายกของ โดยเฉพาะเวลาคว่ำฝ่ามือทำงาน เช่น กวาดบ้าน ลากของ ผัดกับข้าว
  • บางรายอาจมีอาการปวดมาก ไม่สามารถเหยียดแขนได้สุด

 

 

 

tennis elbow

 

 

 

การวินิจฉัยอาการเอ็นข้อศอกอักเสบ

     การวินิจฉัยทำได้ง่ายด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายตามอาการแสดงข้างต้น แต่มีกลุ่มอาการที่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็น tennis elbow บ่อย ๆ เช่น อาการปวดของปุ่มข้อศอกด้านใน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาการปวดข้อศอกของนักกอลฟ์ (golfer's elbow) ส่วนอีกอาการหนึ่ง คือ อาการปวดบริเวณปลายข้อศอกด้านหลัง บริเวณที่ใช้เท้าแขน สาเหตุมาจากถุงน้ำบริเวณข้อศอกอักเสบ (bursltls) ดังตารางข้างบน

 

 

การรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ

เนื่องจากอาการปวดเกี่ยวข้องการบาดเจ็บของเส้นเอ็นโดยตรง ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุดคือการพักหยุดการใช้แขนควบคู่กับการรักษาอื่น ได้แก่

 

  • การใช้ยารักษา โดยทั่วไปแพทย์มักให้ยาต้านการอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรกและในรายที่มีอาการไม่มากนัก หากใช้ยาต้านการอักเสบแล้วไม่ได้ผล แพทย์มักจะแนะนำให้รับการฉีดยาประเภทสเตียรอยด์เข้าสู่เส้นเอ็น เพื่อระงับการอักเสบได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นรอยด่างขาวบริเวณฉีดยา ชั้นไขมันใต้ผิวหนังยุบตัว เส้นเอ็นฝ่อ
  • การผ่าตัดรักษาอาการเอ็นข้อศอกอักเสบ หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์ควรพิจารณาเลือกใช้การผ่าตัด (ประมาณ 3% ของผู้ป่วย) ด้วยการขูดเอาเนื้อเยื่อที่เสียออก และปรับแต่งเส้นเอ็นไม่ให้ตึงเกินไป

 

 

การป้องกันเอ็นข้อศอกอักเสบ

     หลังพักควรบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงตามขั้นตอนที่อยู่ด้านล่าง ดังนั้นหากจำเป็นต้องกลับไปทำงานที่อาจเป็นสาเหตุของโรค  ผู้ป่วยควรบริหารกล้ามเนื้อก่อนใช้งาน (อุ่นเครื่อง : warm up) โดยใช้เวลาราว 5-10 นาที และควรหยุดหากเกิดอาการเจ็บ

 

  • ยกของโดยหงายฝ่ามือขึ้น
  • บริหารกล้ามเนื้อบ่อยๆ
  • ทำการยืดกล้ามเนื้อก่อนการใช้งานเสมอ

 

 

ท่าบริหารเพื่อป้องกันเอ็นข้อศอกอักเสบ

  • ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อมือขึ้น โดยเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า คว่ำมือลงและหักข้อมือลงสุดจนรู้สึกถึงความตึงของกล้ามเนื้อต้นแขนส่วนบน
  • ท่าที่ 2 ยืดกล้ามเนื้อท้องแขนด้วยการเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า หงายฝ่ามือขึ้นและดัดข้อมือเข้าหาตัวตามภาพ

 

 

 

tennis elbow

 

 

 


ท่าบริหารทั้งสองท่าเป็นการบริหารยืดกล้ามเนื้อ ควรทำทั้งสองท่าครั้งละ 15 วินาที ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง วันละ 3 รอบ


 

 

tennis elbowtennis elbow

 

กรณีบริหารท่ากับโต๊ะหรือเก้าอี้

      หลังจากยืดกล้ามเนื้อแล้ว ควรบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงด้วยการวางแขนไว้บนโต๊ะหรือพนักวางแขนให้ข้อมือพ้นขอบ จากนั้นใช้มือที่ถนัดถือของน้ำหนักเบา เช่น ปลากระป๋อง จากนั้นค่อยเริ่มใช้ท่า 

 

  • ท่าที่ 3 บริหารกล้ามเนื้อแขนเพียงถือของที่มีน้ำหนักเตรียมไว้ คว่ำมือลงและกระดกข้อมือขึ้นค้างไว้ 2 วินาที ก่อนผ่อนลงช้าๆ
  • ท่าที่ 4 ใช้ท่าบริหารคล้ายกับท่าที่ 3 แค่เปลี่ยนเป็นหงายมือขึ้นและกระดกข้อมือเข้าหาตัวตามภาพ

 

 


หากใช้สองท่านี้ต้องทำอย่างน้อย 3-6 ครั้ง/เซ็ต แบ่งเป็น 6 เซ็ตให้รวมได้ 30 ครั้ง


 

 

 

tennis elbowtennis elbowtennis elbow

 

 

 

  • ท่าที่ 5 เป็นท่าบริหารกล้ามเนื้อแขนด้านข้างด้วยการเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า ถือน้ำหนักที่เตรียมไว้ในแนวดิ่ง ชี้นิ้วหัวแม่มือขึ้น และขยับข้อมือขึ้น-ลงช้า ๆ (ข้อสังเกตุ : เวลาขยับควรให้แต่ข้อมือขยับ)
  • ท่าที่ 6 เปลี่ยนเป็นบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อมือ คล้ายท่าที่แล้ว แต่เปลี่ยนเป็นหมุนข้อมือแทน โดยเริ่มจากหมุนมือขึ้นเป็นแนวตั้ง ค้างไว้ 2 วินาที ก่อนหมุนกลับในแนวหงาย 2 วินาที ทำสลับไปมาให้ได้ประมาณ 30-50 ครั้ง
  • ท่าที่ 7 จบด้วยท่าบริหารด้วยการนวด โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางนวดบริเวณที่ปวดอย่างนุ่มนวล ระหว่างนั้นอาจใช้ยาทาร่วมด้วย นวดคลึงเบา ๆ ประมาณ 5 นาที หากรู้สึกปวดหรือระบมหลังนวด ควรใช้น้ำแข็งประคบ

 

 

ข้อควรระวังหากมีอาการเอ็นข้อศอกอักเสบ

  • หยุดการใช้งาน หรือท่าที่ทำให้มีแรงกระทำต่อข้อศอกจนรู้สึกปวด หากจำเป็นต้องทำ ควรบริหารกล้ามเนื้อก่อนออกแรงประมาณ 5-10 นาทีและประคบเย็นทันทีหลังทำเสร็จ หยุดพักเป็นระยะบ่อย ๆ
  • ใช้แผ่นผ้ายืด หรืออุปกรณ์สำเร็จรูปรัดแขนบริเวณต่ำกว่าข้อศอกเพื่อช่วยลดแรงกระทำ เมื่อต้องเล่นกีฬาหรือยกของหนัก
  • ปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการปวดไม่ดีขึ้นติดต่อกันหลายวัน ถ้าปล่อยไว้ให้มีอาการปวดเรื้อรัง จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพอย่างถาวรได้ หรือมีอาการข้างเคียงที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เกาท์, การอักเสบติดเชื้อ หรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่น

 

 

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การพักหยุดการใช้แขนที่ทำให้มีการปวดมากขึ้น

 

 

แก้ไข

31/3/2565