ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Cardiac Arrhythmia

January 30 / 2024

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Cardiac Arrhythmia

 

 

 

หัวใจเต้นปกติเป็นอย่างไร?

 

หัวใจปกติจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาทีและมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50-60 ครั้งต่อนาที

 

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไร?

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีความผิดปกติในสองลักษณะ

  • ผิดปกติในอัตราการเต้นของหัวใจ คือ เต้นช้าหรือเร็วมากเกินไปไม่เหมาะกับกิจกรรมของร่างกายในขณะนั้น
  • ผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจ คือ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆ หยุดๆ

ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติทั้งอัตราการเต้น และจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้ เช่น เต้นๆ หยุดๆ และเต้นเร็ว ในบางรายอาจมีเต้นช้าสลับกับเต้นเร็วก็ได้

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด?

 

หัวใจเต้นผิดจังหวะมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกการเกิด สาเหตุ อาการ การพยากรณ์โรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • หัวใจเต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia)  คือเต้นช้าน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia)  คือเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที

 

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอาการอย่างไร?

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการได้หลายอย่างตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ใจสั่น เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม หมดสติ รุนแรงที่สุดอาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้

ผู้ป่วยทีมีหัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองและร่างกายไม่เพียงพอ ถ้าเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจะมีอาการมึนงง ถ้าหัวใจเต้นช้ามากจะหน้ามืดหรือหมดสติได้ ถ้าเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอก็จะมีอาการเหนื่อยเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากอาจมีอาการเหนื่อยแม้ในขณะพัก และอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว หรือภาวะหัวใจวายได้

 

 

 

 

 

ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และแรง เหนื่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจเกิดหัวใจล้มเหลวได้ ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วมากอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอมักจะมีอาการหัวใจกระตุกแรงๆ จุกที่หน้าอกหรือคอ ใจหายเป็นช่วงๆ

 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ซึ่งจะทราบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่นๆ

 

 

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 

 

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพอแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  • เป็นความผิดปกติภายนอกร่างกายและนอกหัวใจ เช่น การรับประทานอาหาร เครื่องดื่มหรือยาที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น การดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากๆ ติดต่อกันนานๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็วเกินไป การทานยาที่อาจมีผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ยาลดความดันบางอย่าง นอกจากจะลดความดันแล้ว ยังลดการเต้นของหัวใจให้ช้าลงด้วย กรณีนี้สาเหตุอยู่นอกหัวใจและนอกร่างกาย วิธีการรักษาจึงมุ่งไปที่การลดหรือหยุดการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาดังกล่าว หัวใจก็จะกลับมาเต้นเป็นปกติ

 

  • เป็นความผิดปกติของร่างกายระบบอื่นๆ นอกหัวใจแต่มีผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์มากเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและผิดจังหวะได้ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ ท้องร่วง อาจมีผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ในกรณีให้มุ่งรักษาโรคที่เป็นสาเหตุกระตุ้น หัวใจก็จะกลับมาเต้นเป็นปกติได้

 

 

  • เป็นความผิดปกติของโรคหัวใจชนิดต่างๆ แล้วมีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ในกรณีนี้ต้องรักษาโรคหัวใจร่วมไปกับการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

 


 

  • เป็นความผิดปกติที่ระบบไฟฟ้าของหัวใจเอง โดยไม่มีความผิดปกติของหัวใจชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย  เช่น โรคไฟฟ้าลัดวงจรชนิด Wolff Parkinson White (WPW) syndrome บางชนิดเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง ที่อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ เช่น โรคไหลตาย (Brugada Syndrome) long QT syndrome กรณีนี้การรักษามุ่งแก้ไขความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจโดยตรง 

 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

 

การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นสิ่งที่มีความยุ่งยากอยู่บ้าง เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด ผู้ป่วยมีอาการหลากหลายแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นจะมีระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน บางชนิดเป็นแค่เสี้ยววินาที บางที่เป็นหลายๆ นาที หรือหลายชั่วโมง มักจะเกิดโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าหรือมีเหตุกระตุ้นชัดเจน การวินิจฉัยที่ถูกต้องแพทย์จำเป็นต้องได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ขณะที่มีอาการเท่านั้นถึงจะวินิจฉัยได้ถูกต้อง

 

 

มีวิธีการตรวจอะไรบ้างเพื่อให้ได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ?

 

มีเครื่องมือตรวจการเต้นของหัวใจหลายชนิดที่ช่วยในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography, EKG) เป็นการตรวจมาตรฐานของการตรวจการเต้นของหัวใจ เหมาะกับผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีอาการนานพอที่จะมาถึงโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง (Holter monitoring) ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะต้องติดเครื่องบันทึกติดตัวตลอดเวลา 24-48 ชั่วโมงเหมาะกับผู้ที่มีอาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกวันหรือเกือบทุกวัน แต่อาการเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ไม่นานพอที่จะมาตรวจที่โรงพยาบาล  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นการบันทึกต่อเนื่องเป็นเวลานาน เครื่องจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของการเต้นของหัวใจได้แม้ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่มีอาการ

 

 

  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดพกพา (Event recorder/Loop recorder) เหมาะกับผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาการไม่บ่อย อาจจะเดือนละ 1-2 ครั้ง และอาการไม่นานพอที่จะไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล อุปกรณ์มีลักษณะคล้ายโทรศัพท์มือถือ พกพาไปในที่ต่างๆ เมื่อมีอาการจึงนำเครื่องมาทาบที่หน้าอก กดปุ่มบันทึก ก็จะได้คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการ แต่ไม่ได้รายละเอียดเท่าการตรวจด้วยเครื่อง EKG มาตรฐานหรือ Holter monitoring เนื่องจากมีหน่วยความจำจำกัด แต่ก็มากพอที่จะให้การวินิจฉัยได้ ผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติเวลาเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจะใช้วิธีนี้ไม่ได้
  • เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable loop recorder, ILR) เครื่องจะมีลักษณะคล้ายหน่วยความจำชนิดพกพาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (USB flash drive) แพทย์จะฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย เครื่องจะบันทึกการเต้นของหัวใจอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากมีหน่วยความจำจำกัด เครื่องจะเก็บคลื่นไฟฟ้าหัวใจเฉพาะช่วงเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะตามที่ได้โปรแกรมไว้ก่อน หรือเมื่อผู้ป่วยต้องการเท่านั้น เครื่องมีอายุแบตเตอรี 2-3 ปี เครื่องนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาการนานๆ ครั้ง แต่อาการรุนแรงเช่นผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติที่ไม่ทราบสาเหตุ

 

 

  • การตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจ ( Cardiac Electrophhysiology, EP study) วิธีนี้ต้องมีการสอดใส่สายสวนไปที่หัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขา แพทย์สามารถตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจและกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นได้ โดยทั่วไปเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูงแต่เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีราคาแพง จึงใช้วิธีนี้กับคนไข้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในกรณีที่ไม่สามารถตรวจหาความผิดปกติด้วยวิธีอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 

 

 

จะรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างไร?

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิดและมีหลากหลายสาเหตุ การรักษาจึงมีความแตกต่างกันออกไป ประการแรกต้องมุ่งแก้ไขสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น เลิกการดื่มเครื่องดื่มหรือทานอาหารที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ รักษาโรคหรือภาวะที่เป็นตัวกระตุ้นหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อแก้ไขแล้วยังมีหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่อีก การรักษามุ่งแก้ไขหรือรักษาการเต้นที่ผิดจังหวะซึ่งพอแบ่งแนวทางการรักษาได้ ดังนี้

  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ แก้ไขโดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker)
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติขั้นรุนแรงทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือเสียชีวิตเฉียบพลันได้ รักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ (Automated Implantable Cardioverter Defibrillator, AICD)
    • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วย
  • i.( Antiarrhythmic drug)
  • ii.( Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA)

 

 

 

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Catheter Ablation, RFCA) 

 

เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดดำหรือแดงที่บริเวณขาหนีบ แพทย์จะใช้สายสวนหัวใจนี้ตรวจหาความผิดปกติภายในผนังด้านในของหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อพบแล้วแพทย์จะทำการจี้ทำลายบริเวณดังกล่าวด้วยคลื่นวิทยุซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส เป็นการรักษาวิธีเดียวที่สามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายเป็นปกติได้ ในอดีตการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ในรายที่ทานยาแล้วไม่ได้ผล หรือทานยาได้ผลแต่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแพทย์ทำให้การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีนี้ มีความสำเร็จสูงโดยมีภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะผู้ป่วยอายุน้อยที่ไม่ต้องการทานยาตลอดชีวิต ในกรณีที่มีความผิดปกติเพียงตำแหน่งเดียว มีโอกาสรักษาสำเร็จสูงถึง 90-95% ขึ้นกับชนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยมีภาวะแทรกซ้อนต่ำประมาณ 1% โรคแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น การจี้ถูกสายไฟฟ้าปกติทำให้หัวใจเต้นช้าตลอดเวลา ซึ่งจะเกิดเฉพาะในรายที่บริเวณที่ผิดปกติและสายไฟฟ้าปกติอยู่ใกล้กันมากเท่านั้น อาจมีการเจ็บต่อหลอดเลือดดำหรือแดงบริเวณที่ใส่สายสวนเข้าไป ในรายที่มีความผิดปกติหลายตำแหน่ง เช่น ที่พบในผู้ป่วยหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation, AF) ทำให้มีจุดที่ต้องจี้มาก โอกาสจะรักษาสำเร็จโดยการทำครั้งแรกจะลดลงเหลือ 70%-80% บางรายอาจต้องทำ 2-3 ครั้งเพื่อจี้ความผิดปกติให้หมดไป

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้างคือ เป็นการรักษาคล้ายการผ่าตัดเล็กซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1-2 วัน ค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจเต้นผิดจังหวะและมีเครื่องมือที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม มีผลงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการรักษาด้วยวิธีจี้เทียบกับการใช้ยาในระยะยาว

 

 

ใครควรรับการรักษาด้วยวิธีจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ? 

 

การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายเป็นปกติได้ ผู้ป่วยที่เหมาะสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้คือ

  • แก้ไขสาเหตุที่แก้ไขได้แล้วแต่ยังมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • รับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
  • รับประทานยาแล้วมีผลข้างเคียง
  • ต้องการหายขาด ไม่ต้องการที่จะทานยาต่อเนื่องระยะยาว

การรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุเป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติได้

 

Health Infographic : Cardiac Arrhythmia ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

 

Healthy heart package (ผู้หญิง)

ฝากหัวใจ..ให้เราดูแลกับ "Healthy heart package (ผู้หญิง)" ตรวจก่อนรู้ก่อน อย่าปล่อยให้หัวใจอ่อนแอ..เกินเยียวยา

ราคา 5,990 บาท

Healthy heart package (ผู้ชาย)

ฝากหัวใจ..ให้เราดูแลกับ "Healthy heart package (ผู้ชาย)" ตรวจก่อนรู้ก่อน อย่าปล่อยให้หัวใจอ่อนแอ..เกินเยียวยา

ราคา 5,990 บาท

“Healthy start program” โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ดูแลหัวใจและปอดของคุณและคนที่คุณรัก ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ราคา 3,000 บาท

บริการอุปกรณ์ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พกพาได้

ติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกล เหมาะกับใครบ้าง ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ พบอาการไม่บ่อยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่สามารถตรวจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยวิธีตรวจอื่นๆ

ราคา 12,000 บาท

บันทึกการเต้นของหัวใจในโลกยุคดิจิทัล "ป้องกันภาวะหัวใจวาย"

Multiday Patch Holter (แผ่นบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) อุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดแผ่น แปะติดที่หน้าอก สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจติดต่อกันได้หลายๆ วัน

ราคา 6,000 บาท